ภาษีป้าย

1120 Views
  • อัตราภาษีป้ายปีตามเกณฑ์ใหม่

เนื่องจากอัตราภาษีป้ายได้มีกำหนดใช้มายาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 ปัจจุบันได้มีการอัพเดตอัตราภาษีป้ายใหม่ เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ.2564 โดยกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีป้ายไว้ดังนี้

1.ป้ายที่มีอักษรไทยล้วน 

(1.1) ป้ายที่มีข้อความที่เคลื่อนที่หรือเปลี่ยนเป็นข้อความอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 10 บาท ต่อขนาดป้าย 500 ตร.ซม.  

(1.2) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (1.1) อัตราภาษีป้าย 5 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. (ตารางเมตรละ 100.-)

2.ป้ายที่มีอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ และ/หรือปนกับภาพ และ/หรือเครื่องหมายอื่น 

(2.1) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.  

(2.2) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (2.1) อัตราภาษีป้าย 26 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. (ตารางเมตรละ 520.-)

3.ป้ายที่ไม่มีอักษรไทยไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใดๆ หรือไม่ และป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

(3.1) ป้ายที่มีข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพที่เคลื่อนที่ หรือเปลี่ยนเป็นข้อความ เครื่องหมาย หรือภาพอื่นได้ อัตราภาษีป้าย 52 บาท ต่อ 500 ตร.ซม.

(3.2) ป้ายติดทั่วไปที่นอกเหนือจากข้อ (3.1) อัตราภาษีป้าย 50 บาท ต่อ 500 ตร.ซม. (ตารางเมตรละ 1,000.-)

  •  ขั้นตอนการเสียภาษีป้าย 

เมื่อกิจการได้มีการทำป้ายขึ้นมาพร้อมใช้งานแล้ว ก่อนที่จะนำไปติดควรมีการขออนุญาตติดตั้งป้ายก่อน โดยมีขั้นตอนคือ

1.ขอคำอนุญาต โดยแจ้งขนาด พร้อมด้วยภาพถ่ายหรือภาพสเกตช์ของป้าย และแผนผังที่ตั้งของป้ายกับสำนักงานเขต เทศบาล หรือ อบต.

2.ยื่นแบบฟอร์มชำระภาษีป้าย (ภ.ป.1) ซึ่งประกอบด้วย

- บัตรประจำตัวประชาชน
- สำเนาทะเบียนบ้าน
- เลขประจำตัวผู้เสียภาษี เลขที่ทะเบียนการค้า
- หนังสือรับรองบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัด (กรณีนิติบุคคล)
- รูปถ่ายป้าย พร้อมขนาดกว้าง x ยาว
- ใบอนุญาตติดตั้งป้าย หรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย

ในกรณีที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้ว ให้นำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายจากปีก่อนมาแสดงด้วย

3.ชำระภาษีป้ายที่สำนักงานเขต หรือผ่านธนาคารกรุงไทย

- หากเป็นป้ายที่ติดตั้งใหม่ ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ภายใน 15 วัน

- หากเป็นป้ายที่ชำระภาษีต่อเนื่องทุกปี ให้ยื่นแบบ ภ.ป.1 ได้ตั้งแต่เดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี

- หากเป็นป้ายที่ชำระภาษีประจำปี และต้องการเปลี่ยนแปลงป้ายให้แจ้งภายใน 15 วัน

- หากมีการยกเลิกใช้ป้าย เนื่องจากเลิกกิจการให้แจ้งภายในเดือนธันวาคมของทุกปี

4.สามารถแบ่งชำระได้ เป็น 3 งวด หากภาษีป้ายที่ต้องชำระมากกว่า 3,000 บาท 

5.เสียภาษีอย่างต่ำ 200 บาท ในกรณีที่เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้ว ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีที่ขั้นต่ำจำนวน 200 บาท

----------------------------------------------------------------------------
 

ป้ายแบบไหนเสียภาษี ?

ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ เครื่องหมายที่ใช้ประกอบการค้าหรือเพื่อโฆษณา

รูปแบบของป้าย?

ตัวอักษร, ภาพ, เครื่องหมายที่เขียน, การแกะสลัก, จารึกวิธีอื่น

 

ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี

ตามกฎหมายแล้วป้ายที่ต้องเสียภาษี คือ ป้ายใด ๆ ที่แสดงชื่อยี่ห้อที่ใช้ในการโฆษณาหรือหารายได้บนวัตถุต่าง ๆ แต่ว่ากฎหมายยังมีข้อยกเว้นหลายข้อ ซึ่งผู้ประกอบการสามารถใช้วิธีเหล่านี้ในการติดป้ายแทนป้ายแบบปกติทั่วไปได้ โดยไม่ต้องเสียภาษีด้วยวิธีดังนี้

            1. ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ

            2. ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือที่สิ่งหุ้มห่อหรือบรรจุสินค้า

            3. ป้ายที่แสดงไว้ในบริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว

            4. ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์

            5. ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน ทั้งนี้ เพื่อหารายได้ และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตรที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์

            6. ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน

            7. ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตาม กฎหมายว่าด้วยการนั้น ๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ (ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์ และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

            8. ป้ายของโรงเรียนเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชน หรือสถาบัน อุดมศึกษาเอกชนนั้น

            9. ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน

            10. ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนา หรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ

            11. ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ

            12. ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง (ปัจจุบันมีฉบับที่ 2) กฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้าย สำหรับ

             (ก) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนนหรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์

             (ข) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อน ตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน *ข้อนี้คนเข้าใจผิดมาก ป้ายที่ตั้งพื้น และ มีล้อเลื่อน ต้องเสียภาษีป้ายตามปรกติ*

             (ค) ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก (ก) และ (ข) โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร